>>  ข้อมลทั่วไป

  >>  สถานที่ท่องเที่ยว

------------------------------------------------------------------------------------

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดสุรินทร์

อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) 
         
สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงผู้สร้างเมืองท่านแรก   ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของเมืองสุรินทร์  อนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ทางเข้าเมืองสุรินทร์ทางด้านใต้  เดิมเคยเป็นกำแพงเมืองชั้นในของตัวเมืองสุรินทร์ อนุสาวรีย์เป็นรูปหล่อทองเหลืองรมดำ สูง ๒.๒ เมตร มือขวาถือของ้าว อันเป็นการแสดงถึงความเก่งกล้าสามารถของท่านในการบังคับช้างศึกและเป็นเครื่องแสดงว่าสุรินทร์เป็นเมืองช้างมาแต่ดึกดำบรรพ์ รูปปั้นสะพายดาบคู่อยู่บนหลังอันหมายถึงความเป็นนักรบ ความกล้าหาญอันเป็นคุณสมบัติที่ตกทอดเป็นมรดกของคนสุรินทร์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๘

วัดบูรพาราม
          ตั้งอยู่ที่ถนนกรุงศรีใน ตำบลในเมือง ใกล้กับศาลากลางจังหวัด วัดบูรพารามเป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี หรือในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีอายุประมาณ ๒๐๐ ปี เท่ากับอายุเมืองสุรินทร์ โดยพระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป คือ หลวงพ่อพระชีว์ (หลวงพ่อประจี) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดบูรพาราม นอกจากนี้ผู้มาเยือนยังสามารถแวะนมัสการรูปเหมือนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล (เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ฝ่ายธรรมยุต เป็นพระเถระที่อาวุโส) ซึ่งเป็นที่เคารพกราบไหว้ของบุคคลทั่วไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดบูรพารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐

ห้วยเสนง 
         
เป็นอ่างเก็บน้ำของโครงการชลประทาน อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ (สุรินทร์-ปราสาท) ประมาณ ๕ กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๕-๖ แยกซ้ายมือไปทางถนนริมคลองชลประทาน ประมาณ ๔ กิโลเมตร ห้วยเสนงนี้เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีสันเขื่อนสูง บนสันเขื่อนเป็นถนนลาดยาง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองสุรินทร์ และภายในที่ทำการชลประทานมีพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอีกด้วย (การเข้าชมพระตำหนักต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า ) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๔๔ ๕๑ ๑๙๖๖

วนอุทยานพนมสวาย 
          อยู่ในเขตตำบลนาบัว ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๒๒ กิโลเมตร ใช้เส้นทางสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข ๒๑๔) ระยะทาง ๑๔ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปอีกประมาณ ๖ กิโลเมตร เป็นภูเขาเตี้ยๆ มียอดเขาอยู่ ๓ ยอด ยอดที่ ๑ มีชื่อว่ายอดเขาชาย (พนมเปราะ) สูง ๒๑๐ เมตร เป็นที่ตั้งของวัดพนมสวาย มีบันไดขึ้นถึงวัด    มีสระน้ำกว้างใหญ่และร่มรื่นด้วยต้นไม้    เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคลปางประทานพร ภปร. ยอดที่ ๒ มีชื่อว่ายอดเขาหญิง (พนมสรัย) สูงระดับ ๒๒๘ เมตร ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดกลางประดิษฐานไว้ ยอดที่ ๓ มีชื่อว่าเขาคอก (พนมกรอล) พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ได้จัดสร้างศาลาอัฏฐะมุข เป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ ๒๐๐ ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง จากยอดเขาชายมาประดิษฐานไว้ในศาลา โดยเริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๔ และเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเป็นวนอุทยานแล้ว  บรรพบุรุษชาวสุรินทร์ถือว่าเป็นสถานที่แสวงบุญ จะมีการเดินขึ้นยอดเขาในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งเป็นวันหยุดงานตามประเพณีของชาวจังหวัดสุรินทร์มาแต่โบราณกาล

ปราสาทเมืองที 
          ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลเมืองที ภายในบริเวณวัดจอมสุทธาวาส  ปราสาทเมืองทีเป็นปราสาทแบบเขมรที่ได้รับการดัดแปลงในสมัยหลังเช่นเดียวกับปราสาทศรีขรภูมิ ปราสาทก่อด้วยอิฐฉาบปูน มี ๕ หลัง สร้างรวมกันเป็นหมู่บนฐานเดียวกันหลังหนึ่งอยู่ตรงกลาง และอีก ๔ หลังอยู่ที่มุมทั้ง ๔ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๓ หลังซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง หลังกลางมีขนาดใหญ่สุด มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ตัวเรือนธาตุตันทึบไม่มีประตูเนื่องจากการดัดแปลง ส่วนหลังคาทำเป็นชั้นมี ๓ ชั้นเลียนแบบตัวเรือนธาตุ ส่วนยอดบนหักหาย นับเป็นโบราณสถานเขมรอีกแบบหนึ่งที่นิยมสร้าง คือ มีปราสาทหลังกลางเทียบเท่าเขาพระสุเมรุ และมีปรางค์มุมทั้งสี่ตามความเชื่อในลัทธิศาสนาพราหมณ์ แต่ไม่พบจารึกหรือลวดลายทางศิลปะที่สามารถบอกว่าสร้างขึ้นเมื่อใด

หมู่บ้านหัตถกรรมเขวาสินรินทร์
          ตั้งอยู่ทางเหนือของตัวเมืองสุรินทร์ เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าไหมพื้นเมืองที่เรียกว่า ผ้าโฮล และการผลิตลูกประคำเงิน  ที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน เรียกกันว่า ลูกปะเกือม นำมาทำเป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรีที่สวยงาม มีร้านค้าจำหน่ายสินค้าในบริเวณหมู่บ้าน ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ (สายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ไปประมาณ ๑๔ กิโลเมตร แยกขวามือไปอีก ๔ กิโลเมตร

ปราสาทบ้านไพล 
          ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลเชื้อเพลิง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ ๒๒ กิโลเมตร (ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอปราสาท ๗ กิโลเมตร) มีทางแยกขวาไปตามถนนลาดยางอีก ๓ กิโลเมตร  เป็นศาสนสถานศิลปะขอมที่สร้างถวายแด่พระอิศวร ตัวปราสาทมีลักษณะเป็นปรางค์ ๓ องค์ สร้างด้วยอิฐขัดตั้งเรียงเป็นแนวเดียวกัน มีคูน้ำล้อมรอบ ยกเว้นทางเข้าด้านทิศตะวันออก แม้ว่าศิวลึงค์และทับหลังบางส่วนจะหายไป แต่จากเศษทับหลังที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายทำให้ทราบว่าปราสาทหลังนี้คงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖

ปราสาทหินบ้านพลวง 
          ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ตำบลบ้านพลวง ห่างจากที่ว่าการอำเภอปราสาท ๔ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ (สุรินทร์-ปราสาท-ช่องจอม) มีทางแยกซ้ายมือกิโลเมตรที่ ๓๔-๓๕ไปอีกราว ๑ กิโลเมตร ปราสาทหินบ้านพลวงเป็นปราสาทหินขนาดเล็กแต่ฝีมือการสลักหินประณีตงดงามมาก ได้รับการขุดแต่งบูรณะเมื่อปี พ.. ๒๕๑๕ โดยวิธีอนัสติโลซิส คือการรื้อตัวปราสาทลง เสริมความมั่นคง และประกอบขึ้นใหม่ดังเดิม ลักษณะของปราสาทหินองค์นี้เป็นปรางค์องค์เดียว ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียวส่วนด้านอื่นอีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง หินทราย และมีอิฐเป็นวัสดุร่วมก่อสร้างในส่วนบนของปราสาท โบราณสถานแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมจำหลักลายงดงามมาก แต่องค์ปรางค์เหลือเพียงครึ่งเดียว ส่วนยอดหักหายไป มีคูน้ำเป็นรูปตัวยูล้อมรอบ ถัดจากคูน้ำเป็นบาราย (สระน้ำขนาดใหญ่) ที่เห็นเป็นคันดิน เดิมคงเป็นที่ตั้งของแหล่งชุมชนมาก่อน บริเวณรอบองค์ปราสาทได้รับการตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ลักษณะของทับหลังที่พบส่วนมากสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ภายในซุ้มเหนือหน้ากาล ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ส่วนทางด้านเหนือสลักเป็นรูปพระกฤษณะฆ่านาค สันนิษฐานได้ว่า ปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้นสำหรับพระอินทร์ นอกจากนี้ช่างมักสลักเป็นรูปสัตว์เรียงเป็นแนว เช่น ช้าง กระรอก หมู ลิง และวัวอยู่บนทับหลัง  สำหรับหน้าบันด้านทิศตะวันออกสลักเป็นรูปพระกฤษณะ ยกภูเขาโควรรธนะและเช่นเดียวกัน มีรูปสลักเป็นรูปสัตว์เล็ก ๆ นอกกรอบหน้าบันอันน่าจะแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแหล่งน้ำต่าง ๆ อยู่มาก ที่ผนังด้านหน้ามีรูปทวารบาลยืนกุมกระบอง  ลักษณะของปราสาทหินองค์นี้คล้ายกับปรางค์น้อยบนเขาพนมรุ้ง ลวดลายเป็นลักษณะศิลปะขอมแบบ   บาปวน กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ จากลักษณะของฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทางด้านข้างขององค์ปรางค์เหลืออยู่มาก สันนิษฐานว่า แผนผังของปราสาทแห่งนี้น่าจะประกอบด้วยปรางค์สามองค์สร้างเรียงกัน แต่อาจยังสร้างไม่เสร็จหรืออาจถูกรื้อออกไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นได้  ปราสาทหินบ้านพลวงเปิดให้ชมทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๗.๓๐-๑๘.๐๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท

โบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน  
         
ตั้งอยู่ที่บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง เป็นโบราณสถานแบบขอม ๓ หลัง ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ติดแนวชายแดนประเทศไทยและกัมพูชา การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ ผ่านอำเภอปราสาท แยกไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๒๑ ที่จะไปอำเภอบ้านกรวดประมาณ ๒๕ กิโลเมตร มีทางแยกที่บ้านตาเมียง ไปอีก ๑๓ กิโลเมตร

ปราสาทตาเมือน
          ศาสนสถานของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน สร้างขึ้นเพื่อเป็นธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทางแห่งหนึ่งใน ๑๗ แห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้ายแห่งเมืองพระนครโปรดให้สร้างขึ้นจากเมืองยโสธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรขอมโบราณไปยังเมืองพิมาย  ปราสาทตาเมือนเป็นศิลปะขอมแบบบายนสร้างด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกับโบราณสถานสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่พบในดินแดนประเทศไทย มีลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวมีห้องยาวเชื่อมต่อมาทางด้านหน้า ผนังด้านเหนือปิดทึบ แต่สลักเป็นหน้าต่างหลอก ส่วนด้านใต้มีหน้าต่างเรียงกันโดยตลอด เคยมีผู้พบทับหลังเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว ๒-๓ ชิ้น

ตลาดการค้าช่องจอม
          ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 และ 14 บ้านด่านพัฒนา ตำบลด่าน เดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายห้วยทับทัน-ห้วยสำราญและประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๘  ช่องจอมเป็นเส้นทางข้ามแดนที่ใหญ่และสะดวกที่สุดของจังหวัดสุรินทร์ที่จะไปยังกัมพูชา (ฝั่งตรงข้ามด้านกัมพูชาเป็นชุมชนโอร์เสม็ด อำเภอสำโรง จังหวัดอุดรมีชัย)   ทำให้มีการติดต่อสัญจรไปมาและซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชาวไทยและกัมพูชามาเป็นเวลาช้านาน และเป็นที่มาของแนวความคิดในการเปิดจุดผ่านแดนเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศตลาดแห่งนี้เปิดทำการค้าขายและสัญจรไปมาทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๗.๐๐-๒๐.๐๐ น. ประเภทสินค้ามีทั้งสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และสิ่งประดิษฐ์จากไม้ เช่น ม้านั่ง หัตถกรรมไม้ เสื่อสาน ตะกร้าสานต่าง ๆ  การเดินทาง ใช้เส้นทางสุรินทร์-ช่องจอม ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์  ๖๙ กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอกาบเชิง ๑๓ กิโลเมตร

ปราสาทศีขรภูมิ 
          ตั้งอยู่ที่ตำบลระแงง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ ๓๔ กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข  ๒๒๖ ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ๑ กิโลเมตร  ปราสาทศรีขรภูมิประกอบด้วยปรางค์อิฐ ๕ องค์ องค์กลางเป็นปรางค์ประธาน มีปรางค์บริวารล้อมรอบอยู่ที่มุมทั้งสี่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นและประตูทางเข้าเพียงด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออก
          ปรางค์ทั้งห้าองค์มีลักษณะเหมือนกัน คือ องค์ปรางค์ไม่มีมุขมีประตูทางเข้าด้านเดียว มีชิ้นส่วนประดับทำจากหินทรายสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ ทั้งส่วนที่เป็นทับหลังและเสาประดับกรอบประตู เสาติดผนัง และกลีบขนุน ปรางค์ส่วนหน้าบันเป็นอิฐประดับลวดลายปูนปั้น องค์ปรางค์ประธานมีทับหลังสลักเป็นรูปศิวนาฏราช (พระอิศวรกำลังฟ้อนรำ) บนแท่น มีหงส์แบก ๓ ตัวอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข รูปพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และนางปารพตี (นางอุมา) อยู่ด้านล่าง เสาประตูสลักเป็นลวดลายเทพธิดาลายก้ามปูและรูปทวารบาล  ทับหลังรูปศิวนาฏราชนี้ถือได้ว่ามีความงามกว่าทับหลังชิ้นใด ๆ ที่สลักเรื่องราวเดียวกันทั้งที่พบในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ส่วนปรางค์บริวารพบทับหลัง ๒ ชิ้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เป็นภาพกฤษณาวตาร ทั้งสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นภาพกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์ ส่วนอีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าคชสีห์  จากลวดลายที่เสาและทับหลังขององค์ปรางค์ มีลักษณะปนกันระหว่างรูปแบบศิลปะขอมแบบบาปวน (.. ๑๕๕๐-๑๖๕๐) และแบบนครวัด (.. ๑๖๕๐-๑๗๐๐) จึงอาจกล่าวได้ว่า ปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ หรือต้นสมัยนครวัด โดยสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และคงถูกดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาตามที่มีหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย
          ปราสาทศีขรภูมิเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๓๐ น. อัตราค่าเข้าชมชาวไทย คนละ ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท

หน้า   1  |  2

 

 
 
 
 
 
 
 

Webmaster : wanleeya lomloi contract to : wanleeya lomloi@yahoo.com Tel :  06-7508678
copyright 2006 All right reserved