>>  ข้อมลทั่วไป

  >>  สถานที่ท่องเที่ยว

-----------------------------------------------------------------------------------

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดสุรินทร์

ปราสาทภูมิโปน 
         
ตั้งอยู่ที่บ้านภูมิโปน ตำบลดม ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วยโบราณสถาน ๔ หลัง คือ ปราสาทก่ออิฐ ๓ หลัง และก่อศิลาแลง ๑ หลัง มีอายุการก่อสร้างอย่างน้อยสองสมัย ปราสาทก่ออิฐหลังใหญ่และหลังทางทิศเหนือสุด นับเป็นปราสาทแบบศิลปะเขมรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ส่วนปราสาทอิฐหลังเล็กที่ตั้งตรงกลางและปราสาทที่มีฐานศิลาแลงทางด้านทิศใต้นั้นสร้างขึ้นในสมัยหลังปราสาทภูมิโปนคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูไศวนิกายเช่นเดียวกับศาสนสถานแห่งอื่นในรุ่นเดียวกัน แม้ไม่พบรูปเคารพซึ่งควรจะเป็นศิวลึงค์อยู่ภายในปรางค์ แต่ที่ปรางค์องค์ใหญ่ยังมี ท่อโสมสูตร คือ ท่อน้ำมนตร์ที่ต่อออกมาจากแท่นฐานรูปเคารพในห้องกลางติดอยู่ที่ผนังในระดับพื้นห้อง  การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๗ (สายสุรินทร์-สังขะ) ระยะทาง ๔๙ กิโลเมตร จากแยกอำเภอสังขะเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๒๔ (สังขะ- บัวเชด) จนถึงบ้านภูมิโปนอีก ๑๐ กิโลเมตร จะเห็นปราสาทอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ

ปราสาทยายเหงา 
         
ตั้งอยู่ที่บ้านสังขะ ตำบลสังขะ เป็นศาสนสถานแบบขอมที่ประกอบด้วยปรางค์ ๒ องค์ ตั้งอยู่เรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีการแกะสลักอิฐเป็นลวดลายเช่นที่กรอบหน้าบัน เป็นรูปมกร (สัตว์ผสมระหว่างสิงห์ ช้าง และปลา) คาบนาคห้าเศียร  จากลักษณะแผนผังของอาคารน่าจะประกอบด้วยปราสาท ๓ องค์ตั้งเรียงกัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง ๒ องค์ บริเวณปราสาทพบกลีบขนุนยอดปรางค์ เสาประดับกรอบประตู แกะสลักจากหินทราย จัดแสดงไว้ด้านหน้าปราสาท  การเดินทาง ห่างจากที่ว่าการอำเภอสังขะ ประมาณ ๔ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๔ (โชคชัย-เดชอุดม) ระหว่างกิโลเมตรที่ ๑๘๙-๑๙๐ แยกไปตามทางลูกรังอีก ๘๐๐ เมตร

ปราสาทจอมพระ 
          ตั้งอยู่หมู่ ๔ ตำบลจอมพระ ปราสาทจอมพระมีลักษณะของสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า อโรคยศาล มีโครงสร้างที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก อาคารต่าง ๆ ก่อด้วยศิลาแลงและใช้หินทรายประกอบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีส่วนประกอบหลัก ๔ ส่วน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะแบบอโรคยศาลดังที่พบในที่อื่น คือ ปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขหน้า บรรณาลัยหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางด้านหน้า มีกำแพงล้อมรอบพร้อมซุ้มประตูรูปกากบาทและสระน้ำนอกกำแพง โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ เศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๑ เศียร และรูปพระวัชรสัตว์ ๑ องค์เช่นเดียวกับที่พบที่อโรคยศาลในอำเภอพิมายและที่พระปรางค์วัดกู่แก้ว จังหวัดขอนแก่น โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นรูปเคารพในพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน มีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบบายน (ราว พ.. ๑๗๒๐-๑๗๘๐) ซึ่งเป็นแบบศิลปะที่เจริญอยู่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอม การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ ๒๖ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ (สายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด) เข้าตัวอำเภอจอมพระ มีทางแยกขวามือเข้าวัดป่าปราสาทจอมพระอีก ๑ กิโลเมตร

หมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์
          ตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ และ ๑๓ บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ไปทางเหนือตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ (สุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ก่อนถึงอำเภอท่าตูม บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๓๖ เลี้ยวซ้ายไป ๒๒ กิโลเมตร พื้นที่หมู่บ้านเป็นที่นาและป่าละเมาะสลับกับป่าโปร่งเหมาะกับการเลี้ยงช้าง
         
ชาวบ้านตากลางดั้งเดิมเป็นชาวส่วย หรือ กูย หรือ กวย มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้างและเลี้ยงช้าง ส่วนมากต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชา ปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศทำให้ชาวบ้านไม่สามารถไปคล้องช้างเช่นแต่ก่อนได้ แต่ชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้างและฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้างของจังหวัดทุกปี  การเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลางไม่เหมือนการเลี้ยงช้างของชาวภาคเหนือที่เลี้ยงไว้ใช้งาน แต่ชาวบ้านตากลางเลี้ยงช้างไว้เป็นเพื่อน นอนร่วมชายคาเดียวกับตน ดังนั้นถ้าท่านได้ไปที่บ้านตากลาง นอกจากจะได้เห็นสภาพโรงช้างดังกล่าวแล้ว ยังได้สัมผัสการดำรงชีวิตของชาวส่วย พร้อมทั้งได้พบปะพูดคุยกับหมอช้างที่มีประสบการณ์ในการคล้องช้างมาแล้วแต่ในปัจจุบันด้วยสภาวะเศรษฐกิจหากไม่อยู่ในช่วงใกล้งานแสดงช้างจะมีช้างอยู่ในหมู่บ้านน้อย หากต้องการชมการแสดงช้างในหมู่บ้านควรติดต่อล่วงหน้าที่กำนันตำบลกระโพ โทร. ๐ ๑๙๖๗ ๕๐๑๕,๐ ๔๔๕๑ ๒๙๒๕ หรือผู้ใหญ่บ้านตากลาง โทร. ๐ ๑๙๗๗ ๖๓๐๔
          นอกจากนี้ทางจังหวัดยังได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างขึ้นภายในหมู่บ้านด้วย เพื่อรวบรวมประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับช้าง อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการคล้องช้าง และให้ความรู้ในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับช้าง

หมู่บ้านจักสานบ้านบุทม
         
ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองที หมู่บ้านนี้ในช่วงนอกฤดูทำนาชาวบ้านจะมีอาชีพเสริมด้วยการสานตะกร้าและภาชนะต่าง ๆ ที่ทำจากหวายเส้นเล็ก เรียกว่า หวายหางหนู โดยจะไม่ลงแล็คเกอร์ หากใช้ไปแล้วมีเชื้อราให้รักษาโดยใช้ผลมะเฟืองสุกรสเปรี้ยว มะนาว หรือมะกรูดมาถูจากนั้นล้างน้ำให้สะอาดผึ่งแดดให้แห้งภาชนะก็จะมันเงาเหมือนเดิม การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (สุรินทร์-ศีขรภูมิ) ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๒ กิโลเมตร

หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านท่าสว่าง 
          ตั้งอยู่ตำบลท่าสว่าง เป็นที่ตั้งของโรงงานทอผ้ายกทองโบราณ ที่ใช้ไยไหมเส้นเล็กหรือไหมน้อยมาย้อมสีธรรมชาติ ด้วยเทคนิคแบบโบราณผสมผสานกับการออกแบบลวดลายที่วิจิตรแบบลายชั้นสูงในอดีต เช่น ลายเทพพนม ลายก้านขดเทพรำ ลายครุฑหยุดนาค ลายหิ่งห้อยชมสวน เป็นต้น  รวมทั้งไหมทองคำที่ผลิตขึ้นมาจากเส้นเงินบริสุทธิ์แล้วปั่นกับเส้นไหม นำมาทอเป็นผ้ายกทองที่มีความวิจิตรงดงาม

หน้า   1  |  2

 

 
 
 
 
 
 
 

Webmaster : wanleeya lomloi contract to : wanleeya lomloi@yahoo.com Tel :  06-7508678
copyright 2006 All right reserved